เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์

300
เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์

      ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า คนให้ความสนใจติดตั้งโซล่าเซลล์กับบ้านกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดค่าไฟ และยังเป็นการช่วยประหยัดการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก สำหรับกระบวนการทำงานของแผงโซล่าเซลล์นั้น จะทำหน้าที่เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า และทำการเก็บสำรองไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นจะมีการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ทำให้คุณสามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้กับอุปกรณ์ภายในบ้านทั่วไปได้ ทั้งนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจติดตั้งโซล่าเซลล์ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่ควรรู้ เพราะเป็นการติดตั้งในระยะยาวถึง 25-30 ปี หากพิจารณาไม่ดีอาจจะทำให้การติดตั้งโซล่าเซลล์ของคุณนั้นไม่คุ้มค่า เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ DECORA จึงอยากจะมาแนะนำที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจติดโซล่าเซลล์ในบ้าน มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

ตรวจสอบกำลังไฟบ้าน

      การตรวจสอบกำลังไฟภายในบ้าน ทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนคุณใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม ในการตรวจสอบสามารถใช้หลักการคร่าวๆ อย่างการคำนวณด้วยค่าไฟที่ชำระในแต่ละเดือน ตัวอย่างเช่น ค่าไฟเดือนนี้ 5,000 บาท ให้คุณทำการแบ่งค่าไฟออกเป็นตอนกลางวัน 70% และตอนกลางคืน 30% ดังนั้น ค่าไฟตอนกลางวันที่ใช้ไปจะอยู่ที่ 3,500 บาท และเฉลี่ยค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย นำจำนวนค่าไฟตอนกลางวันทำการหารด้วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะได้ 3,500÷4= 875 หน่วย เอาเลขจำนวนหน่วยที่ได้ หารด้วยจำนวนวัน และจำนวนชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์เป็น (875÷30)÷9= 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง ดังนั้น การติดตั้งโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมคือ ขนาดที่ 3-5 กิโลวัตต์ (3KW) แต่วิธีนี้จะเป็นการคำนวณในเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำว่าก่อนการติดตั้ง คุณสามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์

ความแข็งแรงของหลังคาบ้าน

      มาตราฐานของแผ่นโซล่าเซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1×2 เมตร และ 1 แผ่น จะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ดังนั้น คุณควรทำการตรวจสอบหลังคาบ้าน และวัสดุที่ใช้ปูหลังคา หากเกิดรอยแตก รอยร้าว รอยรั่ว หรือตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ควรทำการรีโนเวทใหม่ เพราะการติดโซล่าเซลล์บ้านเป็นการติดตั้งในระยะยาวหลายสิบปี หากไม่ตรวจสอบจุดนี้อาจจะเกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักเกินได้

รูปทรงของหลังคาบ้าน

      หลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ลักษณะของทรงหลังคาจะสูง ลาดชัน ทำให้สามารถติดโซล่าเซลล์ได้ง่ายที่สุด

      หลังคาทรงปั้นหยา จะมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อย และเป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก ข้อดีของหลังคาประเภทนี้ สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการติดโซล่าเซลล์บ้านสามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา

      หลังคาทรงเพิงแหงน สามารถติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว เพราะมีพื้นที่หลังคาเยอะและกว้าง แต่ต้องระวังในเรื่องของการรั่วซึมเมื่อฝนตก เนื่องจากความลาดเอียงของหลังคาประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้ระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

      จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์สามารถทำการติดตั้งได้กับหลังคาทุกๆ ประเภท แต่จะมีบางประเภทที่ทำการติดตั้งได้ง่ายกว่าประเภทอื่นๆ และบางประเภทมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึม

ทิศทางที่เหมาะสมกับการติดตั้ง

      ทิศเหนือ เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด เพราะในประเทศไทยนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ แนะนำว่าไม่ควรติดโซล่าเซลล์บ้านหันแผงไปทางทิศเหนือ

      ทิศใต้ เป็นทิศที่ควรหันแผงโซล่าเซลล์ไปทิศทางนี้ เพราะจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่

      ทิศตะวันออก จะได้รับแสงแดดปานกลาง แต่ข้อจำกัดการรับแสงจะอยู่ในช่วงเช้า-เที่ยงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทางทิศใต้ การรับแสงของทิศตะวันออกจะได้รับแสงน้อยกว่า 2-16% จะส่งผลให้แผงโซล่าเซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่

      ทิศตะวันตก ประสิทธิภาพการรับแสงจะเท่ากับทางด้านทิศตะวันออก

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก APTHAI

แชร์บทความนี้