ทิศทางแสงแดด สำคัญไฉน

5521

ในการออกแบบบ้าน เมื่อเราออกแบบบ้านให้หน้าบ้าน หันไปทางทิศใดแล้ว สิ่งที่สัมพันธ์กันคือ ทิศทางของแสงแดด และทิศทางของลม จะสอดคล้องกับทิศนั้น ๆ ซึ่งทิศทางของแสงแดด และทิศของทางลม เป็นเรื่องสำคัญ ประกอบการออกแบบบ้าน เพื่อให้ได้บ้านอยู่ในทิศทางที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศของเมืองไทย ทั้งร้อน ฝน หนาว รวมถึงทิศทางแสงแดด ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา สำหรับบทความนี้ DECORA เลยอยากจะพาไปรู้จักกับ ทิศทางของแสงแดด เพื่อเป็นความรู้ สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้าน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

ทิศทางของแสงแดด นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม สำหรับการสร้างบ้านหรือเลือกซื้อบ้าน บ้านที่ดี จะต้องไม่ร้อนอบอ้าว ไม่อึดอัด มีการระบายของอากาศได้เต็มที่ในหน้าร้อนได้ ซึ่งทิศทางของแสงแดด ทำให้พื้นที่แต่ละพื้นที่ ได้รับแสงแดดในปริมาณที่ไม่เท่ากันนั่นเอง โดยประเทศไทย แบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งในแต่ละฤดู แนวแกนโคจรของดวงอาทิตย์ ในแต่ละช่วงเวลา จะแตกต่างกัน ส่งผลต่อแสงแดดที่ต่างกันออกไปในช่วงเวลาต่าง ๆ นั่นเอง ดังนั้น แสงแดด จึงมีผลเป็นอย่างมากต่อการอยู่อาศัย และสำคัญต่อการเลือกตำแหน่งทิศทางของผังบ้านและการต่อเติมโครงหลังคา                                                               

วิถีโคจรและตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี

พระอาทิตย์อ้อมทิศใต้ (กันยายน-เมษายน)

ตั้งแต่เดือนกันยายน จะเป็นเดือนที่เส้นทางวิถีวงโคจรของดวงอาทิตย์ จะเป็นแสงอ้อมจากทางทิศใต้ แล้วจะค่อย ๆ ขยับจากทิศใต้ลงใต้ไปเรื่อย ๆ จนถึงเดือนมกราคม ที่แสงแดดจะอ้อมทิศใต้มากที่สุด จากนั้น แดดจะค่อย ๆ ขยับขึ้นทิศเหนือมาจนถึงกลางเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ตรงกับตำแหน่งของประเทศไทยพอดี ทำให้เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย และหลังจากสิ้นเดือนเมษายน วิถีวงโคจรของดวงอาทิตย์ จะเปลี่ยนจากการอ้อมทางทิศใต้เป็นการอ้อมทิศเหนือ รวมระยะเวลาแดดอ้อมทิศใต้ เป็นเวลา 8 เดือน

พระอาทิตย์อ้อมทิศเหนือ (พฤษภาคม-สิงหาคม)

ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน ดวงอาทิตย์จะอ้อมทางทิศเหนือ และจะขยับองศาขึ้นไป จนถึงจุดสูงสุด ที่เดือนกรกฎาคม หลังจากนั้น จะค่อย ๆ ขยับลงมาทางทิศใต้ จนถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม วิถีวงโคจรจะเปลี่ยนกลับมาอ้อมทางทิศใต้อีกครั้ง โดยจะวนเวียนในลักษณะนี้ทุก ๆ ปี รวมระยะเวลาแดดอ้อมเหนือ เป็นเวลา 4 เดือน

 

ลักษณะของแสงแดด ในทิศต่าง ๆ

อย่างที่รู้กันว่า ตำแหน่งของ พระอาทิตย์ จะขึ้นทาง ทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ สรุปได้ ดังนี้

ทิศตะวันออก ได้รับแสงแดดช่วงเช้า-สาย ได้รับความร้อนช่วงสายของวัน มุมของแสงแดด จะเอียงเป็นมุมต่ำ

ทิศตะวันตก ได้รับแสงแดดช่วงบ่าย-เย็น ได้รับความร้อนช่วงบ่ายของวัน มุมของแสงแดด จะเอียงเป็นมุมต่ำ

ทิศเหนือ ได้รับแสงแดดและความร้อน ในช่วง เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม (4 เดือน) โดยแสงแดด จะเป็นลักษณะค่อนข้างแนวดิ่ง

ทิศใต้ ได้รับแสงแดด และความร้อน ในช่วง เดือนกันยายน-เมษายน (8 เดือน) โดยแสงแดด จะเป็นลักษณะค่อนข้างแนวดิ่ง

 

ออกแบบห้อง ให้เหมาะสมกับทิศทางแสงแดด

ห้องนอน

ควรตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือ เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า เมื่อถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอ้อมทิศใต้ ห้องนอนที่อยู่ทางทิศเหนือ จะไม่สะสมความร้อน ถ้าหากเป็นช่วงฤดูหนาว ก็จะมีลมเย็น ๆ พัดโชยเข้ามา ทำให้ทิศเหนือ เหมาะกับห้องนอนเป็นที่สุด

ห้องรับแขก ห้องทำงาน

ควรตั้งอยู่ทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า พอถึงช่วงบ่าย แสงแดด จะไม่สาดเข้ามารบกวนการทำงาน ในห้องทำงาน และไม่รบกวนเวลาพักผ่อน ในห้องรับแขกอีกด้วย

ห้องครัว ห้องน้ำ ส่วนซักล้าง

ควรอยู่ทาง ทิศตะวันตก เพื่อรับแสงแดด ลดการเกิดกลิ่นอับ และฆ่าเชื้อโรคให้ห้องน้ำ ไม่ชื้นจนเกินไป ช่วยป้องกันความร้อน และความชื้นเข้าไปยังพื้นที่ใช้งานภายในบ้าน ส่วนซักล้าง ควรอยู่ทาง ทิศตะวันตก เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงแดดยามบ่ายอย่างเต็มที่ ควรมีชายคาป้องกันแดด และแรงฝนสาดด้วย

ทางเข้าบ้าน สวนหน้าบ้าน

ควรอยู่ทาง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่สีเขียวหน้าบ้าน จะช่วยให้ลมที่พัดผ่านเข้าไปในบ้าน เป็นลมเย็น และสดชื่น เมื่อแสงแดดกระทบไปยังพื้นหญ้า จะไม่ทำให้แสบตามากเท่าแสงแดด ที่กระทบพื้นปูน การทำสวน และทางเข้าบ้าน ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยในเรื่องการกรองแสงด้วย

โรงจอดรถ

ควรอยู่ทาง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเป็นฉนวนกั้นไม่ให้ความร้อนเข้าไปถึงตัวบ้าน ควรมีชายคายื่นยาวเป็นพิเศษ ป้องกันแดดแรงช่วงบ่าย และป้องกันฝนสาดเข้าสู่ตัวบ้านด้วย

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ เรียกได้ว่า ทิศทางของแสงแดดมีส่วนช่วยทำให้ บ้านสว่าง ไม่อับ และยืดอายุการใช้งาน ถนอมบ้านให้อยู่กับเราไปนาน ๆ อยู่สบายในทุก ๆ ฤดู ทำให้บ้านไม่ร้อน อากาศถ่ายเท เย็นสบาย และประหยัดพลังงานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนำบทความนี้ไปประกอบก่อนการวางผังบ้านด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก tip auto 

แชร์บทความนี้