ออกแบบราวกันตกยังไงให้ปลอดภัยทั้งบ้าน
ราวกันตกในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายแบบ และแต่ละแบบก็มีวัสดุที่แตกต่างกันออกไป เช่นราวกันตกเหล็ก ราวกันตกสเตนเลส หรือ ราวกันตกอลูมิเนียม ขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของเจ้าของบ้านด้วย นอกจากการเลือกวัสดุที่เลือกใช้ทำราวกันตกแล้ว อาจต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานของคนภายในบ้าน อาจรวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย วันนี้ DECORA จะมาแนะนำการออกแบบราวกันตกภายในบริเวณบ้าน จะมีวิธีอย่างไรบ้างไปอ่านพร้อมกันเลยค่ะ
การออกแบบราวกันตกภายในบริเวณบ้าน
ระยะความสูงของราวกันตก
กำหนดจากพื้นถึงขอบราวบน ต้องไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงที่ผู้ใหญ่ยืนพิงได้พอดี และในระดับนี้สามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ระยะห่างของซี่
กำหนดให้ระยะห่างของซี่ในทุกช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอน) ต้องไม่เกิน 8 เซนติเมตร เนื่องจากเป็น ระยะที่เด็กเล็ก (2-4 ขวบ) ไม่สามารถมุดลอด โดยเอาหัว เท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้
รูปแบบราวกันตก
รูปแบบของราวกันตกต้องออกแบบรายละเอียดโดยคิดถึงพฤติกรรมของทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่วัยการเรียนรู้ การออกแบบจึงต้องสามารถลดโอกาสการปีนป่าย ด้วยการใช้ราวกันตกแบบซี่ หรือถ้าเป็นแบบลูกกรงก็ต้องเป็นแนวตั้ง ส่วนซี่ราวแนวนอน ให้มีแค่คานยึดซี่ราวกันตกได้เท่านั้น (ไม่มีโครงสร้างแนวนอน หรือไม่มีช่องรูที่มีขนาดวางเท้าได้)
การลดความเสี่ยงปีนป่าย
ไม่ควรวางของใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ (คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ ที่นั่ง หรือกระถางต้นไม้ เป็นต้น
ความคงทนแข็งแรง
ราวกันตกต้องติดตั้งแข็งแรงมากเพียงพอต่อการรับน้ำหนักการพิง การยึดตัว การประคองตัว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะ
ราวกันตกสำหรับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุก็นับเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากเช่นกัน เนื่องจากความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย การเคลื่อนไหว สายตาที่อาจทำให้เกิดการมองไม่ชัดเจน ซึ่งนอกจาก ”ราวกันตก” ที่ต้องให้ความสำคัญแล้ว “ราวจับ” ก็นับว่าเป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน โดยการออกแบบราวจับจะต้องมีทั้ง 2 ระดับ สำหรับผู้ใหญ่ (ผู้สูงอายุ) ดังนี้
– ราวจับต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-45 มิลลิเมตร
– ราวจับต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 0.70–0.90 เมตร
– ราวจับต้องต่อเนื่องกันตลอด และติดตั้ง 2 ข้างของทางเดินและบันได
– วัสดุราวจับผิวเรียบ ทำความสะอาดได้ง่าย
– ราวจับตรงบันได ควรเลยจากขั้นสุดท้ายไปอีกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อมีระยะจับได้ต่อเนื่อง และช่วยพยุงตัวได้ดีขึ้น
– ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร
– วัสดุราวจับควรเป็นสเตนเลส หรือไม้กลมเกลี้ยง โดยสามารถจับได้สบายมือ (ไม่เย็นหรือร้อนตามสภาพอากาศ)
– วัสดุราวจับมีความมั่นคงแข็งแรง
ราวกันตกสำหรับสัตว์เลี้ยง
การออกแบบราวกันตก นอกจากจะทำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับ “สัตว์เลี้ยง” อีกด้วย นั่นก็เพราะปัจจุบัน “สัตว์เลี้ยง” ก็เปรียบเหมือนคนในครอบครัวเช่นกัน ดังนั้น การออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ต้องรองรับความเสี่ยงของน้องหมา น้องแมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ ในบ้านของเราด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า หัวของแมวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 6-7 เซนติเมตร การกำหนดราวกันตกที่รองรับเลี้ยงสัตว์ไว้ จึงทำได้ดังนี้
ระยะห่างของซี่
กำหนดระยะห่างของซี่ในทุกช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอนขอบล่างของราวกันตก) ให้ออกแบบระยะห่างค่อนข้างถี่ และมีระยะห่างช่องว่างซี่ลูกกรงไม่เกิน 5 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะที่แคบที่สุดที่สัตว์เลี้ยงจะสามารถมุดลอด หรือตะแคงตัวออกมาได้
รูปแบบราวกันตก
ราวกันตกหรือส่วนประกอบอาคารที่ไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงเดินผ่าน หรือหลุดลอดออกไปได้ ควรเป็นรูปแบบทึบ หรือหากต้องการให้มีการระบายอากาศได้ ราวกันตกแบบซี่ลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ไม่มีสิ่งที่สำหรับปีนป่ายได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก RISC